การนำ E- Registration มาเสริมบทบาท E-Government

            ระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (E - Registration) ที่กรมการปกครอง รับผิดชอบดำเนินการอยู่ในปัจจุบันตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชน และโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชน ทางด้านการทะเบียนและบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมการจัดทำระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหารงานนั้น นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหา และยังเป็นการพัฒนาระบบทะเบียนของประเทศด้วยการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารข้อมูลสมัยใหม่ ซึ่งทำให้สามารถจัดทำระบบบริการประชาชนที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สมบูรณ์ ถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ของประชาชนคนไทยแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างพื้นฐานในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อการบริหารงาน (Management Information System) ให้ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาของกรมการปกครอง และกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มต้นเรียนรู้การใช้งานและปรับใช้ประกอบการปฏิบัติราชการ จนกระทั่งได้มีการพัฒนาระบบบริหารภาคราชการ เพื่อมุ่งสู่ระบบบริหารงานแบบ Paperless โดยการปรับใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน และนอกจากนี้ กรมการปกครองยังได้ดำเนิน การพัฒนาระบบการขยายประโยชน์การใช้งานระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลางไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ในภาคราชการ และรัฐวิสาหกิจทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ด้วยการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ และใช้เทคนิคการประมวลผลข้อมูลระยะไกล (Remote on-line Processing) เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐสามารถร่วมใช้ประโยชน์จากระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบการปฏิบัติราชการ ทั้งในรูปแบบของการขอตรวจสอบ รายการข้อมูลบุคคล เพื่อใช้พิจารณาประกอบการให้บริการประชาชนผู้มาขอรับบริการกับส่วนราชการต่าง ๆ หรือรูปแบบของ สถิติข้อมูลทางด้านการทะเบียน สถิติข้อมูลความหนาแน่นในการเคลื่อนไหว อพยพย้ายถิ่นของประชากรฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ การกำหนดนโยบาย การวางแผนปฏิบัติการ การกำหนดแผนดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงของประเทศ และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการวางแผนจัดสรรระบบสาธารณณูปโภค ระบบบริการต่าง ๆ ให้เหมาะสม/สอดคล้องต่อประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่รัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายในการบริหารงานเพื่อแก้ไขและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เร่งรีบดำเนินการเพื่อให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการประกันสุขภาพของประชาชน โครงการอินเทอร์เน็ตตำบล โครงการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพย์ติดให้โทษฯลฯความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวต้องอาศัย พื้นฐานจากระบบฐานข้อมูลทะเบียน และระบบคอมพิวเตอร์ในระบบ E - Registration เป็นสำคัญ ฐานข้อมูลต่าง ๆ ในระบบทะเบียนอีเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางข้อมูล เพื่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาประเด็นที่สำคัญที่สุดของระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E - Registration ที่เป็น พื้นฐานสำคัญของ E – Government ก็คือระบบเลขประจำตัวประชาชน (Population Identification Number) 13 หลัก ซึ่งเป็นดรรชนีหลักที่กรมการปกครองใช้เป็นหลักในการประมวลผลฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ทำให้เกิดดรรชนีกลาง ที่หน่วยงานราชการของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล สามารถนำไปประกอบระบบฐานข้อมูล ซึ่งจะทำให้สามารถร่วมใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางได้อย่างถาวรตลอดไป

         และปัจจุบัน กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในภาครัฐบาล ได้พัฒนาระบบทะเบียน อิเล็คทรอนิกส์ให้สามารถรองรับการให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อขยายขอบเขตและพื้นที่ของการให้บริการให้ สอดคล้องกับความจำเป็น และความต้องการในการขอรับบริการของประชาชน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสามารถให้ บริการกับหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยรวมไปถึงสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จะได้รับบริการในระบบ E -Registration เพื่อร่วมสร้างสรรระบบ   E -Government ให้มีความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

แนวโน้มการพัฒนา E - Registration

กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบระบบทะเบียนของประเทศได้กำหนดทิศทาง/แนวโน้มของการพัฒนา E - Registration ของประเทศไทย ในปัจจุบันไว้ดังนี้ คือ

    1. ดำเนินการขยายระบบให้บริการทะเบียนและบัตรอัตโนมัติ ให้ครบทุกสำนักทะเบียน เนื่องจากปัญหา ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ยังขาดงบประมาณดำเนินการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารให้กับสำนักทะเบียน จำนวน 1,552 แห่ง (ปัจจุบัน (พ.ศ.2544) ดำเนินการไปแล้ว 505 สำนักทะเบียน
    2. ดำเนินการขยายการใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน ให้สามารถรองรับความต้องการของหน่วยงาน/ ส่วนราชการต่าง ๆ ด้วยการประสานการปฏิบัติ (ในการปรับปรุงรูปแบบของบัตรประชาชนแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ATM Card) ที่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้บนแถบแม่เหล็กหลังตัวบัตร) ร่วม กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้บัตรประจำตัวประชาชนสามารถจัดเก็บข้อมูลไว้บนตัวบัตรได้มากขึ้นกว่าบัตรชนิดแถบแม่เหล็ก โดยกำหนดให้มีการพัฒนาบัตรแบบใหม่ให้เป็นบัตรที่มีหน่วยความจำบนบัตร ที่เรียกว่า Chip Card หรือ Smart Card หรือบัตรอัจฉริยะ ที่จะนำไปใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล หรือประชาชนผู้ถือบัตร ได้ในทันทีซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้บัตรใบเดียว ในการติดต่อกับหน่วยงาน/ส่วนราชการต่าง ๆ ได้โดยสะดวก ลดต้นทุน และปัญหาต่าง ๆ ในกรณีใช้บัตรหลายใบลงได้ทั้งหมด
    3. 3. ดำเนินการพัฒนาระบบขยายการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ในลักษณะของระบบฐานข้อมูล ร่วมด้วยการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานต่าง ๆ และร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : Gis) เพื่อทำให้เกิดระบบสนับสนุนการปฏิบัติราชการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ โดยกรมการปกครองได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ คือ

      3.1 บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ระหว่าง กรมการปกครองกับจังหวัดชลบุรี อำเภอศรีราชา เทศบาลเมืองศรีราชา และองค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543

      3.2 บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลาง ในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ระหว่างกรมการปกครองกับสำนักงานเทศบาลตำบลแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2544

    4. พัฒนาระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อขยายความสามารถในการให้บริการแบบไร้พรมแดน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ระบบฐานข้อมูลมีความถูกต้องทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของการขอรับบริการจากประชาชน หรือจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่

    5. พัฒนาระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถปรับใช้เป็นระบบข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการกำหนดนโยบาย การวางแผนปฏิบัติงาน และการกำหนดยุทธศาสตร์ ในการบริหารประเทศของคณะรัฐบาลในลักษณะของศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุน การบริหารประเทศ โดยกำหนดกระบวนการประมวลผลร่วมกับระบบฐานข้อมูลประเภทต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของทุกกระทรวง ทบวง กรม

      โครงสร้าง E - Registration in the E - Thailand

      E - Registration หรือระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่ร่วมอยู่ในระบบเมืองไทยในยุคอิเล็กทรอนิกส์ (E - Thailand) ซึ่งบริหารงานด้วย E - Government หรือรัฐบาลที่ใช้ระบบการบริหารผ่านเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารข้อมูล E- REGISTRATION IN THE E -THAILAND

       

      องค์ประกอบของ E - Registration จะประกอบด้วยระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ /ระบบสื่อสาร และระบบฐานข้อมูลที่สำคัญ 2 ประการ คือ

      1. ระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Electronic Registration System : NERS) ซึ่งจะมีระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลาง (Central Registration Database : CRD) เป็นระบบฐานข้อมูลหลักในการดำเนินงาน

      2. ระบบสารสนเทศแห่งชาติ (National Information System : NIS) ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลสารสนเทศกลาง (Central Information Database :CI) เป็นระบบฐานข้อมูลหลักในการดำเนินงาน โดยมีการพัฒนาระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิค (E - Registration) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ

      1. การขยายการใช้ประโยชน์ในการให้บริการแก่สำนักทะเบียนต่าง ๆ ได้แก่

    1.1 สำนักทะเบียนอำเภอ (District Government Registration Office : DGOV) ซึ่งประกอบด้วยสำนักทะเบียนอำเภอ 795 แห่ง สำนักทะเบียนกิ่งอำเภอ 81 แห่ง

    1.2 สำนักทะเบียนจังหวัด (Provincial Government Registration Office :PGOV) ซึ่งประกอบด้วยสำนักทะเบียน 75 แห่ง

    1.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government Office : LGOV) ซึ่งประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 75 แห่ง เทศบาล 1,031 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 6,746 แห่ง และหน่วยการปกครองพิเศษ 2 แห่ง

          2. การขยายการใช้ประโยชน์ในการให้บริการแก่หน่วยงานส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่

          2.1 หน่วยงานราชการ (GAMOU)

          2.2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (PAMOU)

          2.3 องค์กรอิสระ (ORG MOU)

          2.4 องค์กรชุมชนต่าง ๆ (CGOV)

          โดยในปัจจุบัน กรมการปกครองได้มีการขยายประโยชน์การร่วมใช้ฐานข้อมูล ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 40 หน่วยงาน โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (Memorandum of unterstanding : MOU)ร่วมกัน เพื่อกำหนดแบบแผนแห่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ไว้ด้วย

          3. การพัฒนาและขยายประโยชน์ของระบบ E - Registration ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งกรมการปกครองได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้ คือ

          3.1 การพัฒนาระบบให้บริการแก่สถานทูต/ สถานกงสุลไทย (THAI AMB) ในต่างแดนให้สามารถให้บริการทางด้านทะเบียนแก่คนไทยได้ เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย โดยประมวลผลเพื่อการให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

          3.2 การพัฒนาระบบให้บริการแก่หน่วยงานองค์กร สถาบัน ชุมชนต่าง ๆ (X MOU) ที่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการร่วมใช้ ระบบข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

          3.3 การให้บริการประชาชนผู้ใช้ Internet (Internet User) ให้สามารถได้รับบริการ ได้ทั้งในรูปแบบของการตรวจสอบข้อมูลหรือขอรับบริการต่าง ๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

          3.4 การ พัฒนาระบบเว็บไซต์ของกรมการปกครอง เพื่อให้บริการงานทะเบียนและให้ข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเวปไซต์ 3 แห่ง คือ

          www.dopa.go.th / www.khonthai.com / www.khonthai.org

          พร้อม ๆ กับดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ให้มีความสามารถรองรับการประมวลผลได้ในลักษณะของพอร์ทัลไซต์ (Portal Site) เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบทะเบียนอิเล็คทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน สังคม และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ


              ระบบคอมพิวเตอร์ภาค (1-9)   สำนักทะเบียนเดิม   แผนภาพระบบการสื่อสาร   การปรับปรุงระบบเพื่อการให้บริการ   ประเภทการให้บริการ E-Registration   การให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต   สารบัญ