ทะเบียนอาวุธปืน


ความหมาย

อาวุธปืน

หมายรวมตลอดถึง อาวุธทุกชนิด ซึ่งใช้เครื่องส่งกระสุนโดยวิธีระเบิด หรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และ ได้ระบุไว้ในกฏกระทรวง

ผู้มีอำนาจอนุญาต

1. ผู้อนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนให้มีและใช้อาวุธปืน คือนายทะเบียนท้องที่ - เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ ผู้บังคับการกองทะเบียน รองผู้บังคับการกองทะเบียน,กองบัญชาการตำรวจ สอบสวนกลาง หรือผู้รักษาราาชการแทน
- จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
2. เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (พกพา)
- เขตกรุงเทพฯ และทั่วราชอาณาจักร ได้แก่ อธิบดีกรมตำรวจ
- จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวเฉพาะในเขตจังหวัด และเฉพาะผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในเขตจังหวัดนั้น
3. การตั้งร้านค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต
4. การขออนุญาตตั้งร้านค้าวัตถุระเบิด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต
5. การขออนุญาตมีและใช้วัตถุระเบิดในราชอาณาจักร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอนุมัติให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาต
6. การตั้งร้านค้า ทำ/สั่ง นำเข้าดอกไม้เพลิง
นายทะเบียนท้องที่ มีอำนาจออกใบอนุญาต (ยกเว้นดอกไม้เพลิงชนิดประทัดไฟต้องขอความเห็นชอบ จาก รมว.มท. ก่อน)

อาวุธปืนที่อนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง เพื่อ

1. มีไว้ใช้
2. มีไว้เพื่อเก็บ

การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน

หลักการพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัว และทรัพย์สิน ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้.
* ข้อ 1 คุณสมบัตติของผู้ขอมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ คือ
(1) บุคคลซื่งต้องโทษจำคุก สำหรับความผิดตามระมวลกฏหมายอาญาดังต่อไปนี้. ก. มาตรา 57 ถึงมาตรา111 มาตรา 120 มาตรา 177 ถึงมาตรา 183 มาตรา 249 มาตรา 250 หรือ มาตรา 298 ถึงมาตรา 303
ข. มาตรา 254 ถึงมาตรา 257 และพ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษถึงวันที่ยื่นคำขออนุญาต เว้นแต่ ในกรณีความผิดที่กระทำโดยความจำเป็น หรือเพื่อป้องกัน หรือโดยถูกยั่วโทษะ (2) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุก สำหรับความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่อง กระสุนปืน วัตถุระเบิด และดอกไม้เพลิง พุทธศักราช 2477 มาตรา 7 มาตรา 11 ถึงมาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 29 มาตรา 33 หรือมาตรา38
(3 ) บุคคลซึ่งต้องโทษจำคุก ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป ในระหว่างห้าปีนับย้อนหลังขึ้นไปจากวันที่ยื่นคำขอสำหรับ ความผิดอย่างอื่น นอกจากบัญญัติไว้ใน (1)(2) เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดละหุโทษ
(4) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(5) บุคคลซึ่งไม่สามารถจะใช้ปืนได้โดยกายพิการ หรือทุพพลภาพ เว้นแต่จะมีไว้เพื่อเก็บตาม มาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
(6) บุคคลซื่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือปรากฏว่าเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(7) บุคคลซึ่งไม่มีอาชีพและรายได้
(8) บุคคลซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
(9) บุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(10) ภูมิลำเนาของผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฏหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฏร และมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ที่บุคคลนั้นขออนุญาตไม่น้อยกว่าหกเดือน

* ข้อ2 การสอบสวนคุณสมบัติและความจำเป็น ต้องทำการสอบสวนพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 ข้อ 12 และระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 47 บทที่ 3 ข้อ 16 ดังนี้
(1) ผู้ขออนุญาตมีอายุเท่าใด เป็นหัวหน้าครอบครัว หรืออาศัยผู้ใดอยู่
(2) บ้านอยู่ในที่เปลี่ยวหรือไม่ และในบ้านนั้นมีผู้ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนอย่างใดอยู่บ้างแล้วหรือไม่
(3) บ้านที่อยู่เป็นนของผู้รับใบอนุญาตเอง หรือเช่าเขาอยู่
(4) ความประพฤติตามปกติเป็นอย่างไร
(5) เคยต้องโทษทางอาญาอย่างใดบ้างหรือไม่
(6) เกี่ยวข้องกับพวกคนพาลหรือพวกนักเลงหรือไม่
(7) มีหลักทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง ประมาณราคามากน้อยเท่าใด
(8) ประกอบอาชีพทางใด
(9) การขอมีอาวุธปืน เพื่อประโยชน์อย่างใด
(10) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเงิน หรือทรัพย์สมบัติเป็นพิเศษอย่างใด
(11) เคยถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์และร่างกาย หรือถูกขู่เข็ญว่าจะทำร้ายอย่างใดบ้างหรือไม่
(12) เป็นคนมีสติไม่ปกติเป็นบางครั้งคราวหรือไม่
(13) เป็นคนมีนิสัยฉุนเฉียว หรือเกะกะระรานเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือผู้อื่นบ้างหรือไม่
(14) เคยได้รับอนุญาตมีอาวุธปืนมาแล้วหรือเปล่า ถ้าเคยมีแล้ว เหตุใดจึงบขออนุญาตอีก
(15) เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ใกล้ชิด เช่น สารวัตรตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร หัวหน้าสถานี กำนันผู้ใหญ่บ้าน เห็นสมควรอนุญาตหรือไม่
(16) ถ้าเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องสอบให้ทราบว่า
ก.มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยนานเท่าใด ข.พูดภาษาไทยได้หรือไม่ ค. มีครอบครัวเป็นคนต่างด้าวหรือคนไทยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ง. เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ลัทธิใดลัทธิหนึ่ง อันเป็นภัยต่อประเทศหรือไม่ (17) ถ้าเป็นการขอรับมรดก ต้องสอบให้ได้ความว่าได้มีทายาทคนใดคัดค้านการขอรับโอนบ้างหรือไม่ หากมีการ คัดค้านก็ให้ระงับการออกใบอนุญาตไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

*ข้อ 3 การสอบสวนผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน เพื่อให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาตได้พิจารณากลั่นกรอง ที่จะอนุญาตให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืนได้ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้
ก. ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้นายทะเบียนส่งเรื่องให้สารวัตรใหญ่หรือสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ ดำเนินการดังนี้
(1) พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ขออนุญาตเพื่อตรวจสอบประวัติประกอบการพิจารณาด้วย เว้นแต่ผู้ขอเป็นข้าราชการ ประจำการไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบ
(2) ทำการสอบสวนคุณสมบัติและเหตุผลความจำเป็น รายงานเสนอถึงผู้กำกับการตำรวจนครบาล เพื่อพิจารณาแล้ว ส่งเรื่องไปยังนายทะเบียนฯดำเนินการต่อไป
การสอบสวนคุณสมบัติ และเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสารวัตรใหญ่ หรือสารวัตรสถานีตำรวจท้องที่หรือผู้รักษาการแทนที่จะต้องดำเนินการโดยรอบคอบและตรงต่อความเป็นจริง
ข. ในจังหวัดอื่นให้ถือปฏิบัติตามความคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 เรื่องระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และคำสั่งที่ 759/2494 เรื่องระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ 2490 และคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 798/2501 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายนน 2501 เรื่องการอนุญาตให้บุคคลมีอาวุธปืนและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณา ออกใบอนุญาตมีอาวุธปืน ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนท้องที่ประจำจังหวัด และนายอำเภอ เป็นนายทะเบียนท้องที่ประจำอำเภอ การสอบสวนผู้ขออนุญาตให้มีอาวุธเป็นเครื่องกระสุนปืน ก่อนที่จะพิจารณา อนุญาตตามความในข้อ 2 ด้วย

* ข้อ4 ชนิดและขนาดอาวุธปืน ซึ่งจะอนุญาตให้พิจารณาถึงฐานะ และความจำเป็นของผู้อนุญาตเป็นราย ๆ ไป โดยระลึกว่าการอนุญาตให้เอกชนมีอาวุธปืนนั้นเป็นการอนุญาตตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ 2490 มาตรา 9 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีไว้เพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬา หรือในการยิงสัตว์
การพิจารณาอนุญาตดังกล่าวข้างต้นนี้ มีหลักเกณฑ์ในการอนุญาตสำหรับชนิดและขนาดอาวุธปืนตามคำสั่ง กระทรวงมหาดไทยที่ 674/2490 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2490 ข้อ 13 และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ 0515/13548 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2515 ที่ 0313/ว8583 ลงวันที่ 25 กรกฏาคม 2517 และที่ 0515/ว686 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2517 ดังนี้
ก. ถ้าผู้ขออนุญาตเป็นข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามตามกฏหมาย หรือมีหน้าที่ ปฏิบัติงานเขตพื้นที่ที่เสี่ยง อันตรายต่อชีวิตและผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป รับรองหน้าที่การงานมาเป็นที่เชื่อถือได้ หรือผู้ขออนุญาตเพื่อการกีฬาโดยมีหนังสือรับรองเป็นนักกีฬายิงปืน และมาฝึกซ้อมยิงปืนเป็นประจำจากเลขาธิการ สมาคมยิงปืน หรือนายสนามยิงปืนนั้น ๆ ในการพิจารณาอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกให้อนุญาตขนาดลำกล้อง ไม่เกิน .45 หรือ 11 มม.ได้
ข.สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธปืนพก อนุญาตให้มีได้ลำกล้องไม่เกินขนาด .38 หรือ 9 มม. สำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อ กฏกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ตามที่ระบุไว้ในข้ออื่น ๆ ด้วย
สำหรับอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงแม้ขนาดลำกล้องไม่เกิน .38 หรือ 9 มม. เช่นอาวุธปืนขนาด .357 ก็ไม่ควรอนุญาตเว้นแต่ผู้ขออนุญาตเป็นข้าราชการตำรวจ ทหารหรือข้าราชการอื่นซึ่มีหน้าที่ปราบปรามตามกฏหมาย หรือเป็นข้าราชการในท้องที่กันดาร และผู้บังคับบัญชาตั้งแต่หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปรับรองหน้าที่การงาน มาเป็นที่เชื่อถือได้ก็ให้พิจารณาอนุญาตได้ สำหรับในต่างจังหวัดให้นายทะเบียนฯ เสนอขอรับความเห็นชอบจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

* ข้อ 5 การอนุญาตให้มีอาวุธปืน ตามปกติควรมีได้เพียงคนละ 2 กระบอก คือ สั้นและยาว แต่ในการพิจารณา อนุญาตมากน้อยเพียงใดแล้วแต่หลักฐานความจำเป็นของแต่ละบุคคล และควรเข้มงวดกวดขันอย่าให้มีมากเกิน ความจำเป็นไม่ซ้ำขนาดกันให้วงเล็บวัตถุประสงค์มีและใช้อาวุธปืนในใบอนุญาต (ป.4) ให้ชัดเจน

* ข้อ 6 การพิจารณาอนุญาตสำหรับข้าราชการ ตำรวจ ทหารประจำการ ให้มีอาวุธปืนให้ถือปฏิบัติดังนี้
ก. ข้าราชการตั้งแต่สัญญาบัตรขึ้นไป ไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 3 แต่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นหัวหน้ากอง หรือเทียบเท่าหรือผู้กำกับการตำรวจ หรือผู้บังคับกองพันทหารรับรองความประพฤติและตำแหน่งหน้าที่การงาน เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ข. ข้าราชการต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ต้องสอบสวนตามข้อ 3 เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่สืบสวน และปราบปรามโจรผู้ร้ายเป็นประจำ หรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต หรือมีหน้าที่ควบคุมเงิน ไม่ต้องสอบสวนแต่ต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติและตำแหน่งหน้าที่การงานจากผู้บังคับบัญชาตามข้อ ก.

* ข้อ 7 การขอรับโอนอาวุธปืน
ก.การรับโอนอาวุธปืนระหว่างบุคคลทั่วไป พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
ข. การรับโอนปืนมรดก ถ้าผู้รับโอนมีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นทายาทโดยตรงต้องการรับโอนไว้ก็อนุญาตได้

* ข้อ 8 นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งทางการนับเวลาการศึกษานั้นเป็นวันรับราชการ เช่น นักเรียน นายร้อย นายเรืออากาศ นายร้อยตำรวจ ควรมีสิทธิได้รับอนุมัติให้มีอาวุธปืนได้ แต่ควรพิจารณาให้เฉพาะเป็นกีฬา หรือในกรณีรับโอนมรดกซึ่งไม่มีทายาทผู้อื่นที่จะรับโอนไว้ได้ หรือผู้ที่ได้รับปริญญาแล้วยังไม่ประกอบอาชีพแต่ กำลังศึกษาต่ออีกควรพิจารณาให้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น

* ข้อ 9 การพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเครื่องกระสุนปืนของบุคคลนั้น ต้องสอบให้ทราบว่าผู้ขออนุญาตมี อาวุธปืน ซึ่งใช้กับอาวุธปืนที่ขออนุญาตหรือไม่ หากไม่มีห้ามออกใบอนุญาตให้ ถ้ามีและจะขออนุญาตต้องเสนอว่ามี เหตุผลจำเป็นเพียงใดสำหรับอัตราที่จะต้องขออนุญาตให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 759/2494 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2494 ข้อ 14ตามกำหนดและอัตราอย่างสูงต่อไป
(1) กระสุนโดด ปืนยาวทุกชนิด อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามา ได้ไม่เกินปีละ 100 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะขอ อนุญาตได้ไม่เกิน 50 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดนั้น ๆ ถ้าขอซื้อภายในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 60 นัด แต่การอนุญาตให้อนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 15 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ
(2)กระสุนปืนพกทุกชนิดอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามาได้ไม่เกิน 50 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกิน คราวละ25 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ ถ้าขอซื้อภายในราชอาณาจักร ให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 36 นัด แต่การขออนุญาตนี้ ให้อนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 12 นัด สำหรับกระสุนปืน
ชนิดหนึ่ง ๆ
(3) กระสุนลูกซองชนิดต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 ขนาด ตามรายการในนบัญชีเทียบขนาดกระสุนต่าง ๆ ต่อไปนี้
ขนาดที่ 1 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 100 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 25 นัด สำหรับกระสุนปืนชนิดหนึ่ง ๆ
ขนาดที่ 2 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 200 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 50 นัด สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ
ขนาดที่ 3 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 300 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะขออนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 75 นัด สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ
ขนาดที่ 4 อนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าไม่เกินปีละ 400 นัด แต่การสั่งหรือนำเข้ามานี้จะอนุญาตได้ไม่เกินคราวละ 100 นัด สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ แต่ทั้งนี้ขอรวมกันคราวเดียวทุกขนาดให้อนุญาตไม่เกินปีละ 1,000 นัด แต่การอนุญาตนี้จะอนุญาตไม่เกินคราวละ 250 นัด สำหรับกระสุนปืนลูกซองชนิดหนึ่ง ๆ จำนวนที่กำหนดนี้เป็นอันตรายอย่างสูงที่จะอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนการขอซื้อภายในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกินปีละ 500 นัด แต่ในการอนุญาตครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 25 นัด เฉพาะกระสุนปืนลูกซองตามบัญชีเทียบขนาดที่ 1 กรมตำรวจได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกระสุนปืนที่โดยปกติใช้ล่า สัตว์ใหญ่ จึงให้อนุญาตปีละไม่เกิน 100 นัด แต่ในการอนุญาตครั้งหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกิน 10 นัด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้อง กับนโยบายในการสงวนพันธ์สัตว์ป่า
(4) กระสุนอัดลมอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้า หรือซื้อภายในราชอาราจักรได้ไม่เกินคราวละ 1,000 สำหรับกระสุนปืน อัดลมชนิดหนึ่ง ๆ
(5) กระสุนลูกกรดทุกชนิดให้อนุญาตสั่งได้ไม่เกินปีละ 100 นัด ถ้าเป็นการซื้อในราชอาณาจักรให้อนุญาตได้ไม่เกิน คราวละ 200 นัด แต่ต้องไม่เกินปีละ 1,000 นัด
การอนุญาตกระสุนปืนตามคำสั่งนี้ ได้กำหนดอัตราขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นระดับเดียวกันในการอนุญาตตามปกติ แต่ถ้ามี กรณีซึ่งจะต้องผ่อนผันการออกอนุญาตเป็นพิเศษ เช่น ในกรณีที่คนต่างด้าว หรือข้าราชการสถานฑูตอันมีสัมพันธไมตรี ต่อประเทศไทยนำติดตัวเข้ามา ก็ให้พิจารณาผ่อนผันได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายไปแล้วแจ้งให้กรมศุลกากรทราบ ถ้าเป็นกรณีซื้อภายในราชอาณาจักร เมื่อได้ผ่อนผันไปแล้วให้รายงานเหตุที่ผ่อนผันให้กระทรวงทราบเฉพาะคนต่างด้าว ที่ได้รับการผ่อนผันข้างต้นต้องเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิคุ้มกัน เช่นเจ้าหน้าทื่องค์การระหว่างประเทศ

* ข้อ 10 ในกรณีพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของนายทะเบียนเฉพาะเรื่องเฉพาะรายที่จะพิจารณาสั่งการ

* ข้อ 11 ถ้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ มีความสงสัยพฤติการณ์ไม่นาไว้วางใจว่าผู้รับใบอนุญาต

คนใดจะเป็นผู้ต้องห้ามในการออกใบอนุญาตตามาตรา 13 (7)(8) หรือ(9) ก็ให้พนักงานสอบสวนท้องที่รายงาน พฤติการณ์ไปยังนายทะเบียนท้องที่ เพื่อเรียกตัวผู้รับอนุญาตมาทำประกันทัณฑ์บน หรือพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต เป็นราย ๆ ไป การทำประกันทัณฑ์บน ให้นายทะเบียนท้องที่เรียกตัวผู้รับอนุญาตมาดำเนินการดังนี้
ก. ให้นำหลักฐาน การประกอบอาชีพ และรายได้มาแสดง
ข. ให้นำหลักฐาน ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และบัตรประจำตัวมาแสดง
ค. ให้นำบุคคลที่เชื่อถือได้มารับรองทำสัญญาประกันและให้ผู้ได้รับอนุญาตทำทัณฑ์บนต่อนายทะเบียนท้องที่ โดย กำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันทำประกันทัณฑ์บน ถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวหาประกันที่เชื่อถือไม่ได้ หรือไม่ยอมทำทัณฑ์บนภายในเวลาอันสมควรตามที่นายทะเบียน ได้กำนดให้ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตนั้นเป็นผู้ซึ่งจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ให้นายทะเบียน ท้องที่เพิกถอนใบอนุญาตทุกรายไป เมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ทำสัญญาประกันทัณฑ์บนแล้ว ให้แจ้งสารวัตรใหญ่หรือ สารวัตรสถานีตำรวจท้องที่โดย มิชักช้า เพื่อสอดส่องพฤติการณ์ และหากปรากฏว่าผู้ทำสัญญาประกันหรือทัณฑ์บนผิดสัญญาประกัน หรือทัณฑ์บน ก็ให้สารวัตรใหญ่หรือสารวัตรสถานีตำรวจท้องที่ แจ้งให้นายทะเบียนท้องที่ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

*ข้อ 12 การเพิกถอนใบอนุญาต ให้เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เอาใจใส่ตรวจสอบบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและ ใช้อาวุธปืนหากสงสัยพฤติการณ์ของผู้รับใบอนุญาตหรือปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ออก ใบอนุญาตก็รวบรวมหลักฐานรายงานนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า เพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป การสอบสวนคดีอาญา ในคดีความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ให้พนักงานสอบสวน สอบสวนผู้ต้องหาให้ปรากฏ ว่าเป็นผู้ใด้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ หากปรากฏว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกใบอนุญาต ก็ให้รวบรวม หลักฐานรายงานนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า และเมื่อผลคดีถึงที่สุดเป็นประการใด ให้รายงานนายทะเบียนทราบ เพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้นต่อไป เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนผู้ใดเป็นผู้จะต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต นายทะเบียนอาวุธปืน ท้องที่กรุงเทพมหานคร รายงานพฤติการณ์ข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐาน เสนอขอความเห็นชอบจากกรมตำรวจก่อน หากกรมตำรวจเห็นชอบแล้วให้ทำคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วจัดเจ้าหน้าที่ไปร่วมกับตำรวจท้องที่ที่ผู้รับอนุญาตมี ภูมิลำเนาอยู่ แจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ หรือผู้ความคุมดูแลทราบ เพื่อขอ รับอาวุธปืนและใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืนมาดำเนินการต่อไป และให้เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่นั้น ๆ ลงประจำวันไว้ เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ไม่สามารถติดตามผู้รับใบอนุญาตได้ หรือไม่มีผู้อนุบาล หรือควบคุมดูแล ให้นายทะเบียนอาวุธปืน ท้องที่ประกาศคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไว้ ณ ที่ทำการของนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ และที่อยู่ของผู้ได้รับอนุญาต ภายในกำหนด 30 วัน เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวให้นายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ แจ้งสถานีตำรวจดำเนินคดีกับผู้ถูกสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ในกรณีที่ย้ายทะเบียนอาวุธปืน ผู้สั่งเพิกถอนแจ้งให้นายทะเบียนผู้ออกใบอนุญาตทราบเพื่อ หมายเหตุในทะเบียนคุมต่อไป

* ข้อ 13 หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต ให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืนนี้เป็นหลักเกณฑ์โดยทั่วไป สำหรับใช้เป็น แนวทางพิจารณาของนายทะเบียนอาวุธปืนเท่านั้น หากรายใดนายทะเบียนมีเหตุผลอันสมควรว่าผู้ขอมีพฤติการณ์ ไม่เหมาะสม หรือมีเหตุผลความจำเป็นไม่เพียงพอ แม้จะเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ อาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 ก็ตาม นายทะเบียนจะไม่อนุญาตก็ได้

มีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้

1. ยื่นคำขอ ตามแบบ ป.1 ระบุ ชนิด ประเภท จำนวน พร้อมทั้งแหล่งที่จะขอซื้อพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวและ ทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชากรณีเป็นข้าราชการ หรือหนังสือรับรองของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรณีเป็น ราษฏรทั่ว ๆ ไป
2. สอบสวนคุณสมบัติ
- สอบสวนในประเด็นเกี่ยวกับการต้องโทษคดีอาญา อาชีพ ความสามารถและความประพฤติ ได้แก่ ( พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 ม.13 )
- สอบสวนสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการพิจารณาด้วย
- ถ้าเป็นเขตกรุงเทพมหานคร กรณีเป็นบุคคลที่ไม่เคยมีอาวุธปืนมาก่อน ต้องส่งเรื่องราวคำร้องให้ตำรวจท้องที่ สอบสวนคุณสมบัติ และหลักทรัพย์(ยกเว้นผู้ขอเป็นผู้ใหญ่บ้าน)
- สำหรับต่างจังหวัด ให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาสอบสวนคุณสมบัติอย่างรอบคอบ และรวดเร็ว โดยราษฏรให้ สอบสวนจากเจ้าพนักงานปกครองที่ใกล้ชิดเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฉพาะกรณีสงสัยให้นายทะเบียนพิจารณาตรวจสอบ คุณสมบัติร่วมกับผู้บังคับกอง หรือ หัวหน้าสถานีตำรวจ
3. ถ้านายทะเบียนอนุญาตก็ให้ออก ป.3 ให้ไปซื้ออาวุธปืน
4. เมื่อได้รับ ป.3 แล้วจะต้องซื้ออาวุธปืน ณ ท้องที่ หรือ บุคคลที่ระบุไว้ใน ป.3 เท่านั้น เมื่อซื้อแล้วให้นำอาวุธปืนและ ใบคู่มือประจำปืนไปขอ ออกใบอนุญาต ป.4
5. เมื่อออก ป.4 แล้ว นายทะเบียนต้องเพิ่มรายการลงในทะเบียนอาวุธปืนประจำรายตำบลและประเภทอาวุธปืน

การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน

เมื่อเจ้าของอาวุธปืนตาย ให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนแจ้งนายทะเบียนท้องที่ ดังต่อไปนี้
- ท้องที่ที่ผู้นั้นตาย หรือ
- ท้องที่ที่อาวุธปืน ขึ้นทะเบียนอยู่ หรือ
- ท้องที่ที่ผู้ครอบครองอยู่
ขั้นตอนการขอรับโอนมรดกอาวุธปืน

1. ถ้ามีพินัยกรรมให้ดำเนินการตามพินัยกรรม ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่มีผู้จัดการ หากไม่มี ให้สอบปากคำทายาท และให้ได้สาระสำคัญว่าไม่มีทายาทผู้อื่นคัดค้าน จึงจะดำเนินการต่อไปได้ เว้นมีการโต้เถียง ให้รอไว้จนคดีถึงที่สุด
2. ทายาท ยื่นคำขอตามแบบ ป.1 ขอรับโอนมรดกอาวุธปืน
3. เรียก ป.4 เก่าคืน ออกใบ ป.4 ให้ใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนอาวุธปืนประจำตำบล

การแจ้งย้ายอาวุธปืน

เมื่อผู้ได้รับอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งการย้ายอาวุธปืนต่อนายทะเบียนท้องที่ด้วย โดยแจ้งแก่ นายทะเบียนท้องที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออกและ ถ้าย้ายไปอยู่ต่างท้องที่ให้แจ้งการย้ายแก่นายทะเบียนท้องที่ ใหม่ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายไปถึง

กฏหมายและระเบียบเกี่ยวกับการทะเบียนอาวุธปืน

1.พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490
2. คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
3. กฏกระทรวง ฯ (พ.ศ.2490)
4. หนังสือสั่งการ
5. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย